โรคไข้หัดแมว (Cat distemper) เกิดจากการติดเชื้อไวรัส Feline Parvovirus (FPV) เป็นโรคที่ทำลายระบบภูมิคุ้มกัน และสามารถถ่ายทอดได้ในสัตว์ตระกูลแมว มีการแพร่กระจายที่รวดเร็วโดยเฉพาะกับแมวที่ยังไม่มีภูมิคุ้มกัน หรือแมวที่เป็นโรคอื่น ๆ มาทำความรู้จักกับโรคนี้ให้มากขึ้นในบทความต่อไปนี้
ลักษณะของโรคไข้หัดแมว
แมวที่ติดเชื้ออาจแสดงอาการแบบเฉียบพลัน ประกอบด้วย มีไข้ อ่อนเพลีย อาเจียน ถ่ายเป็นมูกเลือดกลิ่นคาว ซึม และเบื่ออาหาร เกิดภาวะโลหิตจาง มีการติดเชื้อที่เกิดขึ้นได้หลายตำแหน่ง เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันของแมวถูกทำลาย ไวรัส FPV มีความทนทานต่อสภาพแวดล้อมมาก สามารถอยู่ได้นานถึงหลายเดือน ทำให้การทำความสะอาด และการป้องกันเป็นสิ่งสำคัญในการป้องกันโรคนี้
การแพร่กระจาย ของโรคไข้หัดแมว
- ไวรัสสามารถติดต่อได้โดยตรงผ่านการสัมผัสกับแมวที่ติดเชื้อ รวมถึงน้ำลาย อุจจาระ และปัสสาวะ
- ตลอดจนสิ่งแวดล้อมที่ติดเชื้อไวรัส เช่น พื้น ที่นอน กรง อาหาร น้ำ หรือภาชนะที่ใช้ หรือแม้แต่บริเวณที่แมวนั่งหรือนอน เมื่อสัมผัสวัตถุเหล่านี้ก็มีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อเช่นกัน
อาการของโรคไข้หัดแมว
แมวอาจมีไข้สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว มีอาการซึม อ่อนแรง และไม่สนใจสิ่งรอบข้าง สังเกตว่าแมวไม่สนใจอาหาร หรือทานน้อยลง น้ำหนักลดอย่างรวดเร็ว แมวอาจอาเจียนบ่อย ๆ และในบางครั้งอาจมีเลือดปน อาจมีอาการท้องเสีย อุจจาระเป็นสีดำหรือมีเลือด เนื่องจากไวรัสทำลายเซลล์เม็ดแดงและเซลล์เม็ดเลือดขาว ซึ่งสามารถนำไปสู่ภาวะโลหิตจาง ในบางกรณี แมวอาจมีภาวะปอดอักเสบ หายใจไม่สะดวก หรือหายใจเร็ว
การป้องกันโรคไข้หัดแมว
การฉีดวัคซีนเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันโรคไข้หัดแมว ควรได้รับการฉีดวัคซีนตั้งแต่อายุ 6 สัปดาห์ขึ้นไป และฉีดซ้ำทุก ๆ 2-3 สัปดาห์ จนกว่าจะมีอายุครบ 16 สัปดาห์ หากรู้ว่ามีแมวที่ติดเชื้อในบริเวณใกล้เคียง ควรป้องกันการสัมผัสกับแมวดังกล่าว เพื่อลดความเสี่ยงของการแพร่กระจายของโรค เนื่องจากไวรัสสามารถอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้นาน ควรรักษาความสะอาดในบริเวณที่แมวอยู่ เช่น กระบะทราย ของเล่น หรือที่นอนของแมว ตรวจสอบสุขภาพ และเฝ้าสังเกตพฤติกรรมของแมวบ่อย ๆ ควรรีบพาแมวไปพบสัตวแพทย์หากสงสัยว่าเกิดการติดเชื้อ
ข้อสรุปสำคัญของโรคไข้หัดแมว
โรคไข้หัดแมวเป็นโรคที่มีอัตราการเสียชีวิตสูง เมื่อติดเชื้ออาการที่แสดงออกมาอาจแตกต่างกันไปตามอายุ ภูมิคุ้มกัน และสภาพร่างกายทั่วไปของแมวตัวนั้น ๆ หากพบว่าแมวมีอาการที่คล้ายกับโรคดังกล่าว ควรพาไปพบสัตวแพทย์เพื่อตรวจเช็คให้แน่ใจอย่างเร็วที่สุด และแยกแมวที่เป็นโรคออก เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรคนี้